การปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังไม่แผ่ว แอดผ่านปั๊มน้ำมันทีไรต้องเหล่มองราคาทุกที และดูเหมือนไม่มีทีท่าจะเข้าสู่ขาลงแต่อย่างใด เพราะสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นตัวตอกย้ำวิกฤตราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอีก

เท่าที่แอดเห็นมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพราะดีเซลเป็นน้ำมันต้นทุนสำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็เห็นว่ามีส่วนช่วยปลายทางคือ ราคาสินค้าที่ยังไม่ปรับขึ้นราคามากนัก

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลนี้ รัฐเอาเงินมาจากไหน? คำตอบ มีเครื่องมือหลายอย่างที่ใช้ แต่ที่มีบทบาทหลักคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งพักหลังเราจะได้ยินชื่อนี้หนาหู เพราะกองทุนน้ำมันฯ จะทำหน้าที่พยุงราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลให้อยู่ระดับราคาไม่เกิน 30 บาท/ลิตร โดยอุดหนุนราคามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงปัจจุบัน

แต่ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันผวนต่อเนื่อง ทำให้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่อาจเอาไม่อยู่ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงินกู้ตามกฎหมาย 20,000 ล้านบาท และขยายวงเงินเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ปัจจุบัน สภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีรายจ่ายประมาณ 7,000 ล้านบาท/เดือน เป็นรายจ่ายน้ำมัน 5,000 ล้านบาท/เดือน และรายจ่ายก๊าซ LPG 2,000 ล้านบาท/เดือน โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตอนนี้ติดลบกว่า 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือด้านภาษี ที่รัฐลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเพื่อช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ โดยจากเดิมเก็บ 5.99 บาท/ลิตร ปรับเป็น 3.20 บาท/ลิตร หรือลดลง 2.79 บาท/ลิตร ซึ่งภาษีที่ลดนี้นำไปช่วยลดภาระค่าน้ำมันดีเซลให้ประชาชนทันที 2 บาท/ลิตร

แต่วิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงครั้งนี้ สุ่มเสี่ยงว่าจะยังอยู่กับเราอีกนาน แอดคิดว่า เราในฐานะประชาชนผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ก็มีส่วนร่วมได้ในการฝ่าวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงในครั้งนี้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ทำได้ทันที โดยการบริโภคน้ำมันอย่างประหยัด หาดูคู่มือวิธีใช้น้ำมันอย่างประหยัด เพื่อช่วยเซฟเงินในกระเป๋าเรา และช่วยชาติให้ไม่ต้องเสียเงินตรานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นได้ด้วย

วันนี้ มีตัวอย่างทิปการประหยัดน้ำมันในช่วงราคาน้ำมันแพงมาให้เพื่อนๆ เข้าไปชมครับ

  • วิธีที่คุณสามารถประหยัดน้ำมันได้ (ตอนที่ 1) https://bit.ly/3HtVylR
  • วิธีที่คุณสามารถประหยัดน้ำมันได้ (ตอนที่ 2) https://bit.ly/3MabJZ6
  • 6 ทิป เดินทางประหยัดพลังงาน https://bit.ly/3tibseb
  • 5 สัญญาณที่ควรรู้ กับการตรวจสภาพ “ยางล้อรถยนต์”เพื่อความปลอดภัย และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง https://bit.ly/3vsSyny
  • เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ก่อนต้องยกเครื่องชุดใหญ่ https://bit.ly/3ps5cPF
ภาพประกอบ
  • คู่มือเอาตัวรอดยุคน้ำมันแพง