ไขข้อข้องใจ ทำไมราคาน้ำมันเบนซินยังแพงอยู่
                   

รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยเลือกตรึงเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการตรึงราคาดีเซลนั้น จะกำหนดให้ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดน้ำมันเบนซินเป็นไปตามกลไกตลาด รวมเฉลี่ยทั้งสองชนิด 2.00 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซินนั้นทางกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้กำหนดค่าการตลาดตายตัว ซึ่งในการเฉลี่ยค่าการตลาดนั้นจะต้องนำปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละชนิด มาคำนวณร่วมด้วย ถ้าราคาน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์สูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ จะเข้าไปชดเชยและหากราคาน้ำมันดีเซลสิงคโปร์ลดลง กองทุนน้ำมันฯ จะเก็บเข้ากองทุนเพื่อให้ค่าการตลาดคงที่ที่ระดับ 1.40 บาทต่อลิตร ทางกองทุนน้ำมันฯ จะประชุมติดตามปรับทุกวัน เพื่อให้ค่าการตลาดเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลทั้งเดือนอยู่ในระดับ 1.40 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันเบนซินก็จะติดตามให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับที่กำหนดไว้เช่นกัน

          กลไกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลข้างต้นใช้มาประมาณ 1 ปีกว่า จนกระทั่งกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับลดลง โดยราคาดูไบลดลงมาอยู่ในระดับ 75 - 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลในระดับ 95 -100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินในระดับ 93 - 98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันดีเซลลดลงในอัตรามากกว่า ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันดีเซลประมาณ 4 - 5 บาทต่อลิตร จึงมีการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.50 บาทต่อลิตร ในวันที่ 15 และ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ตามลำดับ และในขณะเดียวกันได้มีการปรับกลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการตรึงราคาน้ำมันดีเซลใหม่ โดยกำหนดค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลจาก 1.40 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น1.80 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ค่าการตลาดเบนซินลดลงตามด้วยจาก 3.40 บาทต่อลิตร เหลือประมาณ 3.00 บาท ซึ่งทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยทั้ง 2 กลุ่มอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตรเท่าเดิม

          ในวันที่เริ่มเปลี่ยนแปลงกลไกกำกับราคาใหม่นั้น ถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้ว ราคาน้ำมันเบนซินควรจะต้องปรับลดลงประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร แต่เนื่องจากในวันดังกล่าว เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเบนซินในตลาดสิงคโปร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมา 2 วันแล้ว ส่งผลให้ค่าการตลาดเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 2.81 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 3.00 บาทต่อลิตร จึงไม่ได้มีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ราคาน้ำมันเบนซินก็ได้มีการปรับขึ้นลงตามกลไกที่ได้มีการกำหนดไว้

          หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วราคาน้ำมันดีเซลจะสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินประมาณ 3 - 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มีบางช่วงเวลา เช่น ช่วงฤดูหนาวมีความต้องการน้ำมันดีเซลมาก ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันเบนซินมาก แต่ในบางช่วง เช่น ช่วงฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน จะมีความต้องการใช้น้ำมันเบนซินมาก ซึ่งอาจจะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดีเซลได้ ดูตามรูปกราฟจะเห็นได้ว่า ในช่วงปลายปี 2565 ราคาน้ำมันดีเซลสูงกว่าราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ระดับ 19 - 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราคาน้ำมันดีเซลใกล้เคียงกับราคาน้ำมันเบนซิน และบางช่วงราคาน้ำมันเบนซินสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลด้วย จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในระดับ 4 - 5 บาทต่อลิตร จึงได้มีการลดราคาน้ำมันดีเซลไป 2 ครั้ง ครั้งละ 0.50 บาทต่อลิตร รวมเป็น 1.00 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินค่อนข้างคงที่ จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้น ราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลได้ปรับตามกลไกราคาที่กองทุนน้ำมัน ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น

 

เปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบดูไบ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน

Graphical user interface, chart, application</p>
<p>Description automatically generated

Graphical user interface, application</p>
<p>Description automatically generated

 

บทความโดย นายวีระพล จิรประดิษฐกุล

คอลัมน์ เรื่องเล่าพลังงาน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2566

 

…………………………………………………………..

ภาพประกอบ
  • ภาพคุณวีระพล