คอลัมน์ เล่าเรื่องพลังงาน: ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้น้ำมันถูกลงจริงหรือ?? (ตอนที่ 1)
โดย วีระพล จิรประดิษฐกุล
เผยแพร่ทาง นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เมื่อเวลาน้ำมันแพงขึ้นทีไร ผู้คนมักจะหาเหตุกันอยู่เสมอว่าทำไมถึงแพง เป็นเพราะเหตุโน้น เหตุนี้ต่าง ๆ นานา หยิบยกขึ้นมาถกทุกครั้ง ทั้งที่เหตุผลจริง ๆ ที่ทุกคนน่าจะทราบมานานแล้ว คือ ประเทศเราไม่มีแหล่งน้ำมันที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงต้องนำเข้ามาจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ทุกครั้งที่เวลาราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจึงกระทบกับราคาขายปลีกน้ำมัน ในบ้านเราทุกครั้งไป และเช่นเดียวกันที่ทุกครั้ง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อโจมตี และถูกมองเหมือนกับเป็นผู้ต้องหาที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง และน้ำมันแพงในรอบนี้เสียงโจมตี กองทุนน้ำมันฯ ที่ดูเหมือนว่าดังกว่าทุกครั้ง นั่นก็อาจเป็นเพราะวันนี้ผู้คนต่างเสพข้อมูลจากช่องทาง การสื่อสารในสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย และสร้างกระแสได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นผมจึงขอไล่เรียงเหตุการณ์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้อ่านได้เป็นข้อมูลแล้วไปตัดสินใจเอาเองว่าควรจะยุบกองทุนน้ำมันฯ หรือไม่อย่างไร

ในปี พ.ศ.2516 ราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 โดยมีสาระสำคัญ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจ ออกคำสั่งต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ทันต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา นั่นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดหากลไกเพื่อ เข้ามาดูแลเสถียรภาพและความเพียงพอของน้ำมันในช่วงภาวะวิกฤต

ต่อมาในปี พ.ศ.2522 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม (OPEC) ได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 ครั้ง เพื่อเป็นการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้มีเสถียรภาพ ไม่ต้องปรับราคาขายปลีกน้ำมันทุกครั้งที่ราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สร. 0201/9 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2522 เพราะมองว่าน้ำมันเป็นสินค้า โภคภัณฑ์ที่จำเป็น และมีผลกระทบสูงต่อเนื่องไปยังทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นราคาพลังงานที่ขึ้นลงอย่างหวือหวา หรือทางวิชาการเรียกว่าราคาพลังงานที่ขาดเสถียรภาพ ย่อมไม่ ส่งผลดีต่อการปรับตัวของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ แปลง่าย ๆ ว่า น้ำมันจะแพง จะถูกไม่เป็นไร แต่ราคาน้ำมันต้องนิ่ง และไม่หวือหวามากจนเกินไปทำให้ปรับตัวกันไม่ได้

ตั้งแต่นั้น ตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือในการลดผลกระทบต่อประชาชน ในยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น กองทุนน้ำมันจะช่วยจ่ายชดเชยบางส่วนให้ผู้ค้าน้ำมัน เพื่อตรึงราคาไว้ชั่วคราว เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงจนไม่ต้องจ่ายชดเชยราคาขายปลีก เงินที่เคยจ่ายชดเชยก็จะถูกเรียกเก็บกลับมาไว้ในกองทุน เพื่อรองรับกับราคาที่จะแพงในรอบใหม่ ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเป็นทั้งบวกและลบ ในช่วงที่ติดลบกองทุนฯ ก็ไม่ได้จ่ายให้แก่ผู้ค้าน้ำมัน (หรือเรียกว่าติดหนี้ไว้ก่อน โดยไม่มีดอกเบี้ย) ทำให้มีผลกระทบ ต่อผู้ค้าน้ำมัน สาเหตุเนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้เป็นนิติบุคคล จึงกู้เงินไม่ได้ จนกระทั่งในช่วง ปี 2545-2546 ซึ่งตอนนี้รัฐบาลนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันไว้นานจนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบประมาณ 82,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงได้จัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์กรมหาชน) ขึ้น มีหน้าที่หลักในการจัดหาเงินให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำมาชดเชยราคาน้ำมัน เพื่อรักษาระดับราคา ขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไม่ให้สูงกว่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ดูรูปกราฟ)

กราฟ : แสดงราคาน้ำมัน ราคา LPG และฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
กราฟ : แสดงราคาน้ำมัน ราคา LPG และฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

จากข้อมูลกราฟที่ผมนำมาแสดงให้ดูถึงการทำงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในห้วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในการทำหน้าที่เป็นกลไกรักษาเสถียรภาพด้านราคาและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง น่าจะเป็นคำตอบให้กับท่านผู้อ่านได้ว่า กองทุนฯ นั้นได้ตอบโจทย์การทำหน้าที่ตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ ในการจัดตั้งมากน้อยเพียงใด

ในคราวหน้ามาดูกันครับว่า ที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเอาน้ำมันปาล์มไปผสมกับน้ำมันดีเซลแล้วเป็นเหตุให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแพงขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร แล้วกองทุนน้ำมันฯ ไปเกี่ยวข้อง ได้อย่างไรกับราคาสินค้าเกษตร พบกันตอนต่อไปครับ

ภาพประกอบ
  • เล่าเรื่องพลังงาน: ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้น้ำมันถูกลงจริงหรือ?? (ตอนที่ 1)