โดยสรุปในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถูกใช้เป็นกลไกของรัฐบาลในการพยุงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้สูงขึ้นเกินเพดานที่รัฐบาลแต่ละยุคกำหนดไว้ และเป็นกลไกในการส่งเสริมการใช้พืชพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบ รวมถึงเป็นกลไกในการช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร (อ้อย มันสำปะหลังและปาล์ม) เพื่อไม่ให้ราคาตกต่ำ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถูกใช้เป็นกลไกของแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้บางครั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถูกนำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ จึงได้มีการร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อยกระดับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 เพื่อเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ และ พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 โดยกำหนดวัตถุประสงค์หลักไว้ประการเดียวในมาตรา 5 คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น นอกจากนั้นเพื่อให้มีวินัยทางการเงิน ได้กำหนดจำนวนเงินบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีจำนวน ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และสามารถกู้ยืมเงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท พร้อมทั้งกำหนดให้มีการยกเลิกการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ก็มีบทเฉพาะกาล ตามมาตรา 55 ที่ยังคงให้มีการชดเชยต่อไปอีก 3 ปี คือ ภายในกันยายน 2565 และสามารถขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมทั้งหมดเป็นระยะเวลา 7 ปี คือสามารถขยายระยะเวลาชดเชยต่อไปได้อีกจนถึงเดือน กันยายน 2569 หลังจากนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะมีความชัดเจนในบทบาท ภารกิจ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นเรื่องที่ระดับนโยบายต้องตัดสินใจว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อแนวทางการยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพตามกฎหมาย รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อมาทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งอาจจะต้องมองถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามาประกอบด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีคำตอบว่าควรจะใช้กลไกอะไรแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ระหว่างกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือการปรับลดภาษีสรรพสามิต ผมจึงได้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาให้ลองพิจารณากันดูครับ แต่ละแนวทางก็มีการดำเนินการ และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : การบริหารจัดการอยู่ที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีส่งเงินเข้ากองทุน และอัตราเงินส่งเข้ากองทุน การบริหารกองทุน จึงกระทำได้อย่างรวดเร็ว และคล่องตัว สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดวินัยในการใช้เงินกองทุนไว้เพดานสูงสุด ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท สามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อติดลบก็จะกู้เงินมาใช้ และเมื่อราคาน้ำมันลดลง จะต้องเรียกเก็บเงินคืนกองทุน ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศยังคงสูงกว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ สุดท้ายแล้วผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้จ่ายเงินเองทั้งหมด จะไม่กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจส่วนรวม

ภาษีสรรพสามิต : การบริหารจัดการอยู่ที่กระทรวงการคลัง การดำเนินการอาจล่าช้ากว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบ้าง แต่การลดภาษีสรรพสามิตทำให้รัฐบาลเสียเงินไปเลย ไม่สามารถเรียกคืนแบบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ การลดลงของภาษีสรรพสามิตจะกระทบต่อรายได้ของรัฐโดยตรง หากรัฐบาลไม่สามารถหารายได้มาทดแทนได้ก็ต้องกู้เงิน ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และวินัยทางการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญด้านความเชื่อถือของประเทศได้

สำหรับมุมมองที่สำคัญกว่าการเลือกใช้วิธีการ หรือกลไกที่เหมาะสมคือ การลดราคาน้ำมันไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไรก็ตาม ไม่ควรตรึงราคาไว้ในระยะยาว และไม่ควรตรึงราคาเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่งไว้นาน จนส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้เชื้อเพลิงชนิดนั้นมากขึ้น ดังเช่น ในอดีต การตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน จนทำให้รถยนต์ปรับเครื่องยนต์มาใช้ LPG มาก การผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จำเป็นต้องนำเข้าและเมื่อรัฐขึ้นราคา LPG ผู้ใช้ก็หันมาใช้น้ำมันเบนซินแทน เป็นต้น ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ LPG ไม่ว่าจะเป็นคลัง LPG ปั๊ม LPG รวมทั้งท่าเรือนำเข้า LPG มีการใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เกิดความเสียเปล่าของประเทศ และนอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีการเก็บเงินจากน้ำมันเชื้อเพลิง (เบนซิน+ดีเซล) และนำไปอุดหนุนราคาก๊าซ LPG และเก็บเงินกองทุนของน้ำมันเบนซินไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น

โดยสรุป กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกลไกของรัฐบาลเพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่างด้วยกัน กล่าวคือ รัฐบาลใช้เครื่องมือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมากว่า 40 ปีแล้ว รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและใช้เป็นกลไกในการพยุงราคาพืชการเกษตร ซึ่งราคาตกต่ำมาตลอด ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และเป็นการส่งเสริมเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โดย วีระพล จิรประดิษฐกุล

เผยแพร่ทาง นสพ.ไทยโพสต์

ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ภาพประกอบ
  • เล่าเรื่องพลังงาน